10 ข้อ สำหรับตรวจสอบว่าคุณมีปัญหามีลูกยากหรือไม่?

665 จำนวนผู้เข้าชม  | 

10 ข้อ สำหรับตรวจสอบว่าคุณมีปัญหามีลูกยากหรือไม่?

1.ประจำเดือนผิดปกติ
 
รอบเดือนมากกว่า 35 วัน (รอบเดือนนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน ไปจนถึงวันสุดท้ายก่อนประจำเดือนจะมาในเดือนถัดไป) หรือมีประจำเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งต่อปี ซึ่งอาจจะมาจากการที่คุณมีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือเป็น PCOS  หรือการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ผิดปกติได้

2. ประจำเดือนมามาก มานาน หรือน้อยผิดปกติ
 
ตามปกติแล้ว ประจำเดือนของผู้หญิงโดยทั่วไปคือ จะมีประจำเดือน 3-5 วัน โดยจะปริมาณเยอะในวันแรกๆ และลดน้อยลงในวันถัดไป หากประจำเดือนผิดปกติคือ ประจำเดือนมามาก (เต็มแผ่นตลอดต้องเปลี่ยนทุกๆ 2 ชั่วโมง) หรือมานานมากกว่า 7 วัน ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของตัวมดลูก  หรือการทำงานของฮอร์โมนบางตัวที่ผิดปกติได้

ในขณะเดียวกัน หากมีประจำเดือนน้อยลงจากเดิม คือมาแค่กระปิดกระปอยไม่ปกติ อาจมีความผิดปกติที่ผนังมดลูก หรือการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างผนังมดลูกผิดปกติได้

3. มีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติ
 
ตามปกติแล้วอาการปวดประจำเดือนมักจะเป็นต่อเนื่องมากตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน บางคนมีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ บางคนไม่มีอาการปวดประจำเดือนเลย

อาการปวดประจำเดือนตามปกติมักจะมีอาการก่อนประจำเดือนจะมา 1-2 วันและหายไปหลังประจำเดือนมา 1-2 วัน และมักจะดีขึ้นหลังทานยาแก้ปวด หากมีอาการปวดมากไม่หายจากการทานยา หรือ มีอาการปวดยาวนาน หรือ มีอาการปวดประจำเดือนหลังจากที่ไม่เคยปวดมาก่อน อาจมีความผิดปกติได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ เนื้องอกมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้

4. มีอาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์
 
อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดการการมีผังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือมีการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีลูกยากได้

5. อายุที่มากขึ้น
 
เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 35 ปี อาจเพิ่มโอกาสทำให้มีบุตรยากได้ เนื่องจากปริมาณไข่ที่น้อยลง และคุณภาพไข่ที่แย่ลง ตามปกติคนที่มีอายุ 20-30 ปีจะมีโอกาสมีลูกได้ 20-25% ต่อเดือน แต่เมื่ออายุมากกว่า 37 ปี โอกาสสำเร็จจะเหลือไม่ถึง 10% ต่อเดือน และน้อยกว่า 5% ต่อเดือน เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี 

6. มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
 
น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจส่งผลต่อเนื่องถึงการทำงานของฮอร์โมนเพศ รวมถึงการตกไข่ รวมถึงโอกาสที่จะมีลูกด้วย น้ำหนักตัวที่เหมาะสมในการมีลูกคือ BMI 20-24 หากมี BMI ที่มากหรือน้อยเกินไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่มำให้มีลูกยากได้

7. มีโรคทางฮอร์โมน หรือโรคประจำตัวบางอย่าง
 
โรคทางฮอร์โมนบางชนิด เช่นไทรอยด์ทำงานน้อย หรือมากเกินไป หรือ ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ หรือต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีลูกผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้

เช่นเดียวกันโรคประจำตัวบางชนิด เช่นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติก็อาจส่งผลให้มีลูกยาก หรือเพิ่มโอกาสแท้งมากขึ้นในบางราย

8. มีความเครียดเรื้อรังสะสม
 
ความเครียดแม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการมีลูกยาก แต่มีส่วนสำคัญในหลายๆ ด้าน การที่มีความเครียดมากอาจทำให้ไข่ไม่ตก หรือตกผิดปกติ รวมถึงอาจทำให้การสร้างผนังมดลูกแย่ลง หรือตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ การมีความเครียดสะสมนาน จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้เช่นกัน 

9. ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด
 
วิตามินและเกลือแร่บางชนิดมีผลต่อการมีลูกยากง่ายทั้งหญิงและชาย วิตามินและเกลือแร่ที่มีบทบาทสำคัญต่อการมีลูก เช่น วิตามินดี โฟเลต ธาตุเหล็ก หรือ สังกะสี ซึ่งหากขาดสารอาหารเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้เช่นกัน

10. ไม่มีลูกหลังจากพยายามมานาน
 
ตามปกติแล้ว โอกาสมีลูกสำเร็จในคนวัยเจริญพันธุ์จะอยู่ที่ 85% ภานใน 1 ปี ดังนั้นหากคุณมีอายุน้อยกว่า 35 ปีและทดลองมีลูกเองมากกว่า 1 ปีแล้วไม่สำเร็จ หรือคุณมีอายุมากกว่า 35 ปีดลองมามากกว่า 6 เดือนแล้วไม่สำเร็จ จะจัดอยู่ในกลุ่มมีบุตรยาก ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ เพิ่มเติม

หลังจากลองตรวจสอบ Checklists ต่างๆ นี้แล้ว คุณมีข้อไหนที่เข้าได้บ้างคะ? ถ้าตรวจสอบแล้วคุณมีบางข้อมี่อาจเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก ขั้นตอนต่อไปคือการค่อยๆ แก้ไขที่ละสาเหตุ บางสาเหตุคุณสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม หรือการทานวิตามินบำรุง แต่บางสาเหตุ อาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ค่ะ อย่ากลัวหรืออายในการปรึกษาเรื่องมีบุตรยาก เพราะการแก้ไขและรักษาที่ถูกต้อง จะเพิ่มโอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในการมีลูกเร็วขึ้นค่ะ

หมอหน่อยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้