580 จำนวนผู้เข้าชม |
ส่วนประกอบสำคัญในกาแฟ ที่อาจส่งผลต่อร่างกายคือ คาเฟอีน(Caffeine) ซึ่งไปกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ร่างกายมีความตื่นตัว ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น ซึ่งการดื่มกาแฟนั้นได้แนะนำให้ดื่มในปริมาณที่จำกัดในช่วงที่วางแผนมีลูกและช่วงที่ตั้งครรภ์
แล้วคาเฟอีนส่งผ่านทางน้ำนมหรือไม่?
คาเฟอีน (Caffeine) สามารถผ่านทางน้ำนมได้ค่ะ โดยสามารถผ่านน้ำนมได้ประมาณ 1% ของปริมาณคาแฟอีนที่แม่ทานเข้าไป แม้ว่าปริมาณจะดูไม่มาก แต่ทารกไม่สามารถกำจัดคาเฟอีน ออกจากร่างกายได้ดีเหมือนในผู้ใหญ่
ในร่างกายของผู้ใหญ่ใช้เวลา 3-7 ชั่วโมง ในการเผาพลาญและกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกาย ในขณะที่ทารกที่การทำงานของตับและไตยังเติบโตไม่ดี ต้องใช้เวลา 65-130 ชั่วโมง ในการกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกาย โดยพบว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจใช้เวลาในการกำจัดคาเฟอีนนานกว่า ทารกที่คลอดตามกำหนดหรือโตเต็มที่แล้ว
แล้วคุณแม่ที่ให้นมลูกอยู่สามารถดื่มกาแฟได้หรือไม่?
แม้ว่าลูกน้อยจะไม่สามารถกำจัดคาเฟอีน ออกจากร่างกายได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ แต่คุณแม่ยังสามารถดื่มกาแฟหรืออาหารที่มีคาเฟอีนได้ในปริมาณที่จำกัด คือ ปริมาณคาเฟอีนต่อวันไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวันหรือประมาณ 2-3 แก้วต่อวัน เนื่องจากพบว่า ปริมาณคาเฟอีนระดับนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อลูกมากนัก
มีการศึกษาเด็กทารก 885 คนที่แม่ให้นมบริโภคคาเฟอีนมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าทารกมีปัญหาเรื่องการตื่นตอนกลางดึก แต่ผลการศึกษาก็ไม่ชัดเจนมากนัก
นอกจากนี้ยังพบว่า การที่แม่ให้นมบริโภคคาเฟอีนมากกว่า 300 มิลลิกรัมมากๆ เช่น 8-10 แก้วต่อวัน ส่งผลโดยตรงต่อทารก คือ อาจมีอาการกระสับกระส่าย ไม่สุขสบาย หรือมีปัญหาเรื่องการนอนได้ อย่างไรก็ตาม การบริโภคคาเฟอีนที่มากเกินไป นอกจากจะส่งผลต่อลูกน้อย ก็อาจส่งผลต่อคุณแม่เอง เช่น อาจจะมีอาการใจสั่น ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย หรือมีปัญหาด้านการนอนได้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุปคือ
คุณแม่ยังสามารถดื่มกาแฟได้ โดยแนะนำให้คาเฟอีนรวมต่อวัน ไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัม หรือ 2-3 แก้วต่อวัน แต่เนื่องจากคาเฟอีน ไม่ได้มีแค่ในกาแฟ แต่ยังมีในชา โกโก้ หรือ Chocolate ด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องรวมคาเฟอีนทุกตัวที่ทานในระหว่างวันค่ะ
หากคุณแม่ท่านไหน ได้ลดปริมาณกาแฟตั้งแต่ช่วงเตรียมตัวท้อง คือทานไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 1-2 แก้วต่อวัน หมอหน่อยแนะนำให้ทานในปริมาณเดิมต่อนะคะ เนื่องจากจะเป็นระดับที่พอดีและไม่ค่อยส่งผลต่อลูกน้อย แต่ยังสามารถสนองความต้องการของแม่ได้ค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่นะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
#ให้นมอยู่ดื่มกาแฟได้มั๊ย #กาแฟผ่านน้ำนมรึเปล่า #กาแฟไร้คาเฟอีน