674 จำนวนผู้เข้าชม |
คุณภาพไข่ ของคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปี สำคัญอย่างไร?
เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น นอกจากจำนวนไข่ที่เหลืออยู่จะน้อยลง คุณภาพของไข่ของผู้หญิงที่มากกว่า 35 ปี ก็มีแนวโน้มที่จะคุณภาพแย่ลงมากขึ้นด้วย ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากการสัมผัสกับมลพิษ อนุมูลอิสระต่างๆ สารพิษ หรือสารเคมีต่างๆ รวมถึงการลดลงของการสร้างพลังงานในเซลล์ไข่ด้วย เมื่อคุณภาพของไข่ลดลง อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการสร้างโครโมโซมของเซลล์ไข่ ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือล้มเหลวในการตั้งครรภ์ได้ง่ายในคนที่มีอายุมากขึ้น จากภาพ จะเห็นว่า เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี คุณภาพของไข่ ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งมีคุณภาพแย่ขึ้นมาก เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี
จะรู้ได้อย่างไร ว่าไข่ของเรามีคุณภาพที่แย่ลง
ไม่มีการตรวจเรื่องคุณภาพไข่ หรือคาดการณ์คุณภาพไข่ได้โดยตรง อายุ อาจเป็น 1 ในสิ่งที่สามารถคาดการณ์คุณภาพของไข่ได้ อย่างไรก็ตามการตรวจทางห้องปฎิบัติการบางชนิด ที่ช่วยคาดการณ์จำนวนและคุณภาพของไข่คร่าวๆได้เช่น
Basal FSH. FSH (follicle stimulating hormone) : FSH เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเติบโตของไข่ ถ้าฮอร์โมน FSH สูงกว่าปกติ อาจบ่งบอกว่ารังไข่ต้องการความช่วยเหลือในการกระตุ้นมากขึ้น เช่น ไข่จำนวนน้อยลง หรือการตอบสนองของรังไข่ผิดปกติ
Estradiol : ช่วยบ่งบอกถึงการทำงานของรังไข่
Anti-mullerian hormone (AMH) : ใช้ในการดูว่ามีไข่หลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้า AMH น้อยลงบ่งบอกว่าไข่เหลือจำนวนน้อยลงมาก
แม้ว่าเราจะไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณภาพไข่ของเราเป็นอย่างไร แต่ก็ยังมีหลายๆ อย่างที่เราสามารถเพิ่มคุณภาพให้ไข่ของเราได้
ต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเพิ่มคุณภาพไข่
เพราะเราไม่สามารถเพิ่มคุณภาพให้ไข่ได้หลังจากที่ไข่ตกออกมาแล้ว ดังนั้นการเพิ่มคุณภาพไข่ตกทำในช่วงก่อนที่ไข่จะตกออกมา ช่วง 3-4 เดือนก่อนที่ไข่จะตก ไข่จะอยู่ในรูป Primary follicle ก่อนเข้าสู่ระยะการพัฒนา (Growth phase) เพื่อเติบโต และไข่ที่แข็งแรงที่สุดก็จะตกออกมา ดังนั้น ช่วงเวลา 3-4 เดือนก่อนไข่ตกจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่คุณยังสามารถเพิ่มคุณภาพให้ไข่ของคุณไข่
สิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ไข่ของคุณ
สิ่งที่คุณทำได้ในการเพิ่มคุณภาพไข่ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การกิน การใช้ชีวิต ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยสิ่งที่คนที่มีอายุมากกว่า 35 ปี สามารถทำได้เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ไข่คือ
- เพิ่มคุณภาพให้แหล่งพลังงาน (mitochondria) ในไข่ โดยการเพิ่ม CoQ10
- หลีกเลี่ยงสารต่างๆ ที่มีผลต่อไข่ เช่น BPA หรือ Phthalate
- ทานวิตามินเสริมที่จำเป็น เช่น Vitamin D, Folic acid, Zinc, Iodine, Iron
- เพิ่มการทานอาหาร หรือ ทานวิตามินที่มี Omega-3 สูง
- ทานอาหาร หรือทานวิตามิน ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเหมาะสม
- เน้นการนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินอย่างเหมาะสม
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกกินอาการที่ดีต่อสุขภาพ อาหารปรับสมดุลของฮอร์โมน
โดยต้องเปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ อย่างน้อย 3-4 เดือน จึงจะสามารถเพิ่มคุณภาพให้ไข่ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาเริ่มเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มคุณภาพให้ไข่ตั้งแต่วันนี้กันค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)